วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้การประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Google Analytics ฉบับเร่งด่วน ตอน 2

จากตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ UTM Parameters กันไปแล้วว่าสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มรายงานของ GA ได้อย่างไร ตอนนี้เรามาดูกันต่อว่าแคมเปญประเภทไหนบ้างที่จะนำ UTM มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมเราถึงต้องใช้ UTM Parameters ?

จากบทที่แล้วเราพอจะมีเหตุผลหลักๆ มาตอบคำถามนี้ได้ 2 ข้อ คือ
  1. Referrer ที่ GA ได้รับไม่ได้ตรงกับความจริงเสมอไป (หากใครนึกไม่ออกให้ลองกลับไปอ่าน ตอนที่ 1 ใหม่นะครับ)
  2. ในการทำการตลาด เราต้องการข้อมูลมากกว่า Referrer เช่น banner ขนาดไหนที่สามารถสร้าง traffic คนเข้าเว็บให้เราได้มากกว่า ฯลฯ
ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ เราก็พอที่จะกำหนดได้แล้วว่า เมื่อไหร่ควรที่จะนำ UTM มาใช้งาน

เมื่อไหร่ที่เราไม่ต้องใช้ UTM ?

เราไม่จำเป็นที่จะต้องติด tags ในทุกๆ ลิงค์ของเรา ในบางกรณีจะดีกว่าถ้าจะปล่อยให้ลิงค์เหล่านั้นอยู่ของมันไปอย่างเดิม
1. ลิงค์ภายใน (Internal Links)
เราไม่จำเป็นต้องติด tags ให้กับลิงค์ภายในเว็บของเราเอง ยกตัวอย่างนะครับ
สมมติว่าคุณเขียนบทความขึ้นมาใหม่หนึ่งบทความ หลังจากนั้นคุณหรือคนอื่นๆ นำไปแชร์ลงใน Facebook หรือ Twitter จากนั้นมีผู้เยี่ยมชมมาคลิกเพื่อเข้ามาอ่านบทความของคุณจนจบ (สมมติว่าบทความ คือhttp://www.yourweb.com/how-to-do-something.html)  หลังจากนั้นผู้เยี่ยมชมคนนั้นต้องการไปยังหน้า HOME เพื่อที่จะอ่านบทความอื่นๆ ของคุณ โดยการคลิกไปที่ลิงค์ที่คุณติด tags เอาไว้ (สมมติว่าเป็น http://www.yourweb.com/home/?utm_source=self&utm_medium=howto&utm_campaing=tagcrazy) ในกรณีนี้ตัว GA จะเข้าใจผิดทันทีว่าผู้เยี่ยมชมคนนี้ไม่ได้มาจาก Facebook หรือ Twitter แต่จะไปเหมารวมเอาว่าผู้เยี่ยมชมคนนี้มาจาก source self
หากเราต้องการที่จะดูพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมว่าหลังจากอ่านบทความของเราแล้วไปต่อที่หน้าไหนอีกบ้าง เราสามารถใช้ความสามารถที่มีอยู่ของ GA ได้ (ในที่นี้ไม่ขอพูดถึง)
2. มาจากการค้นหาธรรมดา (Organic Search)
GA สามารถรู้ได้เองว่าผู้เยี่ยมชมเข้ามาจากการค้นหาผ่านทาง Search Engine โดย GA สามารถบอกได้ด้วยว่าเข้ามาด้วย keyword อะไร ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าที่จะไม่ติดตั้ง UTM กับหน้า Campaign ที่ต้องการทำ SEO
3. แหล่งอ้างอิงที่เกิดจากผู้อื่น (Natural Referrers)
ในกรณีที่มีเว็บไซต์อื่นแปะลิงค์อ้างอิงถึงเว็บไซต์ของเราหรือเอาลิงค์บทความที่เราเขียนไปอ้างอิงการตอบกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งในกรณีเหล่านี้เราไปบังคับให้ผู้ที่นำไปอ้างอิงมาติด tags ตามใจเราก็ไม่ได้ ดังนั้นข้อมูลในส่วนนี้ รายงานหัวข้อ `Referrers` สามารถบอกเราได้อยู่แล้วว่ามาจาก URL ไหนบ้าง

แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรใช้ UTM ?

1. อีเมลแคมเปญ (Email Campaigns)
คนส่วนใหญ่อ่านอีเมลผ่านโปรแกรมต่างๆ (Email Client) ไม่ว่าจะบน Desktop หรือ บทอุปกรณ์พกพาในปัจจุบัน ลิงค์ต่างๆ ที่คลิกผ่านโปรแกรมเหล่านั้นจะไม่ได้ส่ง Referrer มาให้ GA รับรู้ ดังนั้น UTM Parameters จะช่วยในการเก็บสถิติของผู้เยี่ยมชมว่ามาจากอีเมลฉบับใด หรือ คลิกผ่านลิงค์ส่วนใดบนอีเมลของเราได้ โดยรายละเอียดพวกนี้ผมจะมาขยายให้เห็นชัดขึ้นในตอนต่อๆ ไปนะครับ
2. โซเชียลแคมเปญ (Social Campaigns)
คล้ายๆ กับกรณีอีเมล ปัจจุบันเรามีโซเชียลมีเดียให้เล่นอยู่หลายตัว เอาเฉพาะที่ดังๆ เช่น Facebook, Twitter, Google+ ฯลฯ แล้วแต่ละตัวก็มีล้วนมี Application มาให้ใช้งานไม่ว่าจะเป็น Official App เองหรือจากผู้พัฒนาเจ้าอื่นๆ คลิกที่ผ่านการแชร์จาก Application เหล่านี้ไม่ได้ส่ง Referrer มาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราควรที่จะใส่ UTM เข้าไปในทุกๆ URL ที่เรานำไปแชร์ลงในโซเชียลมีเดียเพื่อให้แน่ชัดไปเลยว่าคนเข้าผ่านโซเชียลมีเดียตัวไหนกันแน่
3. แคมเปญที่จ่ายเงิน (Paid Campaigns)
แน่นอนเมื่อต้องจ่ายเงินไปกับการลงทุนโฆษณาไม่ว่าจะเป็นบน Ads Network ต่างๆ หรือ โฆษณาบน Facebook หรือ ซื้อพื้นที่แบนเนอร์ผ่านเจ้าของเว็บไซต์ดังๆ โดยตรง สถิติส่วนใหญ่ที่คุณจะได้จากผู้ให้บริการเหล่านี้คือ ยอดคลิกเท่าไหร่ ยอดคนเห็นแบนเนอร์เท่าไหร่ แต่…
  • คุณไม่สามารถรับรู้ค่า Conversions จากตัวเลขเหล่านั้น เช่น คุณอยากรู้ว่าหลังจากคลิกเข้ามาผ่านแบนเนอร์แล้วมีคนทำรายการสั่งซื้อจนจบกี่ราย?
  • การใช้ UTM สามารถช่วยให้เราวัดผลประสิทธิภาพของแคมเปญจ่ายเงินของเราผ่าน GA ได้ เช่น คุณสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ แบนเนอร์บนเว็บไซต์ชื่อดัง กับ Facebook Ads ได้ หรือ แม่กระทั้งเปรียบเทียบกับ อีเมลแคมเปญหรือโซเชียลมีเดียแคมเปญก็ได้
  • *** โดยเฉพาะ Google Adwords เราสามารถที่จะผูกบัญชีเข้ากับบัญชี GA ของเราทำให้สามารถดูสถิติและประสิทธิภาพของแคมเปญเราได้อย่างอัตโนมัติ (ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมาเขียนให้อ่านในภายหลังนะครับ ไม่ขอสัญญา)
ถึงตรงนี้เราน่าจะจบพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการใช้งาน UTM Parameters กันแล้วนะครับ เดี๋ยวตอนหนังเราจะมาดูกันว่าเราควรนิยามหรือกำหนด tags ให้กับ parameters แต่ละตัวอย่างไรกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น