วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Social Media Campaigns

ตอนที่แล้วเราได้เห็นตัวอย่างการใช้งาน UTM Parameters กับ Email กันแล้ว คงพอจะจับหลักการกันได้แล้ว วันนี้ลองมาดูว่าหากนำไปใช้งานกับ Social Media แล้วตัวแปรแต่ละตัวเราควรจะให้ค่าอย่างไร โดยตอนนี้จะไม่อธิบายอะไรให้มากความแล้วนะครับ
** หมายเหตุ ** แต่ละกรณีที่จะว่ากันต่อไปนี้สามารถนำไปประยุคใช้งานได้จริง แต่ไม่ต้องยึดติดมาก นะครับ บางอย่างมันขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

UTM Parameters กับ Social Media Campaign

ใน GA เราสามารถเข้าไปดูสถิติผู้เข้าชมที่มาจาก Social ได้ที่เมนู Acquisition > Social แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าเราสามารถแยกออกได้ว่าจำนวนเท่าไหร่มาจากการแชร์ของเรา จำนวนเท่าไหร่เกิดจากการแชร์จากผู้อื่น

UTM Medium

utm_medium=social

UTM Source

utm_source=ขื่อของ Social Media นั้นๆ
utm_source=fb
utm_source=facebook
utm_source=twitter
utm_source=linkedin

UTM Campaign

เช่นเดียวกับกรณี Email เราควรจะกำหนดค่าของ utm_camapign ให้กระชับแต่ครอบคลุมเนื้อหาของแคมเปญของเรา เช่น ชื่อโปรโมชั่น
utm_campaign=new_year_sale_2015 (โปรโมชั่นลดราคาต้อนรับปีใหม่ 2015)
utm_campaign=myblog_post-2014_07_14 (บทความในบล็อกส่วนตัวกำกับวันที่เอาไว้ หรือ สามารถใช้อย่างอื่นก็ได้ที่ทำให้รู้ชัดว่าเป็นบทความไหน)
utm_campaign=product_review-ipad8 (บทความรีวิวสินค้า iPad 8)

UTM Content

utm_content ใช้ในกรณีที่เราต้องการเปรียบเทียบวัดผลเท่านั้น ตัวอย่างการใช้งานเช่นในกรณีของ Facebook หากเรานำ URL ไปแชร์ ก่อนที่จะกดปุ่ม Post เราสามารถที่จะแก้ไข Title และ description ได้ครับ เราสามารถทดลองว่า พาดหัวแบบไหนคนคลิกมากกว่ากันได้ ก็จัดการแก้ไขตาใจชอบแต่อย่าลืมกำหนด utm_content ให้สอดคล้องกับพาดหัวด้วยนะครับ เดี๋ยวตอนดูรายงานจะงงเองได้

UTM Term

ไม่จำเป็นต้องใช้ครับ

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Email Campaigns

มาถึงตอนที่ 4 จนได้ จากที่ผ่านๆ มาเราได้รู้แล้วว่า UTM Parameters เข้ามาช่วยอะไรเราได้บ้าง ตอนนี้เรามาดูกันว่าถ้าจะเอาไปใช้งานกันจริงๆ เราควรที่จะกำหนดค่าให้กับตัวแปรแต่ละตัวอย่างไรกันดี

** หมายเหตุ ** แต่ละกรณีที่จะว่ากันต่อไปนี้สามารถนำไปประยุคใช้งานได้จริง แต่ไม่ต้องยึดติดมาก นะครับ บางอย่างมันขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

UTM Parameters สำหรับ Email Campaigns

โดยปกติแล้ว GA จะมองว่า `Email` เป็นช่องทางหลักช่องทางหนึ่งอยู่แล้ว (ดู Report ได้ที่ Acquisition >> Channels) แต่ GA จะสามารถ Track ได้ในกรณีที่มาจากการเปิดอีเมลอ่านผ่านบราวเซอร์เท่านั้น หากเปิดอ่านด้วย Email Client ตัว GA จะไม่สามารถ Track ได้ ดังนั้น เราควรเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ UTM Parameters กับอีเมล

UTM Medium

เพื่อไม่ให้สับสนกับ Channels `Email` เราควรใช้ utm_medium=email ไปเลยและไม่ควรมีอะไรต่อท้ายอีกเช่น email-monthly, email-newsletter

UTM Source

เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มักจะกำหนดค่าให้ผิดกันอยู่บ่อยๆ บางคนอาจกำหนดว่า utm_source=email (ซึ่ง email มันควรจะเป็นค่าของ medium) หรือไปกำหนดเอาชื่อผู้ให้บริการส่งอีเมลเป็นค่า source เช่น utm_source=mailchimp ซึ่งการกำหนดค่าเหล่านี้ไม่ถูกต้อง
ค่า Source ที่เราจะกำหนดให้กับ Email Campaigns นั้นควรจะเป็น “แหล่งที่มาหรือประเภทกลุ่มของ Email เหล่านั้นมากกว่า” เช่น
  • เป็นอีเมลที่มาจากการลงทะเบียนรับข่าวสาร ควรเป็น utm_source=newsletter
  • เป็นอีเมลที่กลุ่มที่เราจัดว่าเป็นสมาชิก VIP ควรเป็น utm_source=vip_list
  • เป็นอีเมลที่เราแบ่งกลุ่มเอาไว้เพื่อทำ A/B Testing ควรจะเป็น utm_source=group1_list , utm_source=group2_list
ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า ในกรณี Email Campaigns utm_source=(แห่งที่มาหรือกลุ่มของอีเมลเหล่านั้น)

UTM Campaign

ตัวแปร utm_campaign ควรจะกำหนดให้สามารถอธิบายภาพรวมหรือจุดประสงค์ของแคมเปญนั้นให้มากที่สุด โดยต้องไม่กำหนดให้ซ้ำกับ source และ meduim เพื่อกันการสับสน
เรามาลองดูตัวอย่างเป็นกรณีๆ ไปพอให้เห็นภาพนะครับ
  • อีเมลข่าวสารประจำสัปดาห์หรือประจำเดือน :: อันนี้ง่ายๆ เลยครับ กำหนดตรงๆ ไปเลยutm_campaign=weekly , utm_campaign=monthly แต่หากเราต้องการที่จะวัดผลว่าแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนตัวเลขเป็นยังไงเราสามารถที่จะใส่ส่วนขยายลงไปได้อีก เช่นutm_campaign=weekly-2014_07_12 , utm_campaign=monthly-2014_07 ส่วนเหตุผลที่วันที่ควรอยู่ในรูปแบบ YYYY_MM_DD นั้นด้วยว่าหากเราต้องการนำไปวิเคราะห์ข้อมูลในภายหลังเราจะสามารถจัดเรียงลำดับได้ง่ายครับ
  • อีเมลที่จะส่งมีลำดับชัดเจน :: เช่น เราเปิดคอร์สออนไลท์โดยเรียนผ่านทางอีเมล สมมติว่าชื่อคอร์ส “Guide to Dummy” หน้าตาของ utm_campaign ควรจะเป็น ดังนี้
    • utm_campaign=guide_to_dummy-ch1
    • utm_campaign=guide_to_dummy_ch2
ยกตัวอย่างมาก็คงจะพอได้ไอเดียกันบ้างนะครับสำหรับการกำหนดค่าให้กับตัวแปร campaign

UTM Content

utm_content เป็นตัวแปรที่สามารถช่วยเราได้มากหากแคมเปญนั้นเราต้องการทำ A/B Testing เช่น
  • สมมติว่าเราส่งอีเมลเชิญชวนให้มาลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์ของเรา ภายในอีเมล์ที่เราส่งไปจัดทำเป็น Graphic สวยงาม เราต้องการรู้ว่าปุ่มไหนที่อยู่บนอีเมลฉบับนี้มีคนคลิกมากว่ากัน ระหว่าง ปุ่ม“ลงทะเบียนทันที” และ ปุ่ม “อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม” โดยทั้งสองปุ่มจะส่งคนคลิกมายังหน้า LDP เดียวกัน เราสามารถทำ URL ออกมาได้ 2 แบบที่มี utm_content ที่ต่างกัน ดังนี้
    • utm_content=register_now
    • utm_content=read_more

UTM Term

สำหรับ Email Campaign เราไม่จำเป็นต้องใช้ utm_term ครับ

เขียนไปเขียนมาชักยาว คงต้องยกไปตอนต่อไปเลยนะครับ ตอนหน้าเรามาดูกันว่าสามารถใช้ UTM Parameters กับแคมเปญประเภทไหนได้อีกบ้าง

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้การประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Google Analytics ฉบับเร่งด่วน ตอน 3

มากันถึงตอนที่ 3 กันแล้วนะครับ ตอนนี้ว่าจะเขียนในส่วนของการกำหนดค่าให้กับตัวแปร source, medium, campaing กันสักหน่อย โดยปกติในส่วนการตั้งค่าให้กับ UTM Parameters ทาง Google เองก็มีข้อห้ามอยู่เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น เช่น ห้ามใช้อักขระพิเศษต่างๆ
แต่จะดีหว่าไหมหากเราทำให้เป็นระบบระเบียบ?
** หมายเหตุ ** ข้อระวังและข้อควรปฏิบัติเหล่านี้เป็นวิธีการส่วนตัวเพื่อความเป็นระเบียบไม่ทำตามนี้ก็ไม่เป็นไรครับ

ข้อควรระวังในการกำหนดค่าตัวแปรต่างๆ ให้กับ UTM Parameters

1. ควรใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเท่านั้น

หากมีคำถามว่า “ใช้ภาษาไทยได้หรือไม่” ตอบว่า “ได้ครับ” แต่หากเราลองใช้ เครื่องมือสร้าง URL ที่ Google ให้มาเราจะได้หน้าตา URL + UTM ออกมาประมาณนี้ ซึ่งดูแล้วไม่น่ารักเลย

http://www.yourdomain.com/?utm_source=%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81
&utm_medium=%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
&utm_campaign=%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AE%E0%B8%B4

โดยทางเทคนิคแล้วเราสามารถนำ URL อันนี้ไปใช้งานได้นะครับ โดยไม่กระทบกับหน้าตา Report ของเราแต่อย่างใด แต่มันจะดีกว่าหรือไม่ถ้า URL ที่เราจะนำไปใช้งานนั้นสามารถอ่านออกได้โดยสายตาของเราเองตั้งแต่ต้น
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ภาษาไทยในการกำหนดค่าแล้วนั้น ขอให้ใช้ให้น้อยที่สุด หรือ ใช้เฉพาะกับ parameter `utm_term` เท่านั้น

2. ตัวอักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่มีค่าไม่เท่ากัน

เนื่องจากตัว GA มอง UTM Parameters ที่ส่งมาเป็นแบบ case sensitive นั่นหมายความว่า คำๆ เดียวกัน แต่เขียนตัวตัวอักษรพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ต่างกันตัว GA จะมองว่ามันคือคนละคำกัน ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า `email` `EMAIL` `Email` สามคำนี้ถือว่าเป็นคนละคำกัน
โดยทั่วไปแล้ววิธีการแก้ปัญหานี้แบบง่ายที่สุดคือ “ใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็กทั้งหมด”

3. ไม่ควรมีเคาะวรรคใน parameters

ในกรณีที่ค่า parameter ของเรามีการเว้นวรรค เช่น ชื่อ Campaign ว่า `Midnight Sale 2014` โดยปกติตัว space ระหว่างคำเราสามารถใช้ URL encoding `%20 ` ในการเติมแทนเข้าไปได้ โดยหน้าตาตัว parameters จะออกมาได้แบบนี้
utm_campaign=midnight%20sale%202014
แต่มันดูไม่สวยงามและอาจทำให้สับสนได้ ในกรณีนี้เราควรใช้ `_` (Underscores) มาใช้แทน `%20`หน้าตา URL จะออกมาแบบนี้
utm_campaign=midnight_sale_2014

4. ใช้ `-` (dashes) ในการแบ่งค่าใน parameters

ในบางกรณีที่เราต้องการเพิ่มรายละเอียดลงไปในตัว parameters เดียวกัน เราควรที่จะแยกค่าเหล่านั้นให้เห็นชัดเจน ยกตัวอย่าง เช่น
เราจัด Campaigns เชิญชวนสมาชิกให้มาลงทะเบียนเข้างานอีเวนท์งานหนึ่ง โดยกำหนด ส่งอีเมล์ทั้งหมด 2 รอบ รอบแรกส่งหาสมาชิกที่เราเลือกเอาไว้แล้ว 100 คน รอบที่ 2 จะส่งไปหาสมาชิกที่ยังไม่มาลงทะเบียนจากรอบแรกอีกครั้งเพื่อเชิญชวนสมาชิกเหล่านั้นให้มาลงทะเบียนให้ได้ โดย การส่งแต่ละรอบเราจะใช้ชื่อ Campaign เดียวกัน แต่ต้องแยกให้ชัดว่ามาจากการส่งอีเมลครั้งไหน เราสามารถกำหนดค่าให้ต่างกันได้ ดังนี้
utm_campaign=great_event-round1
utm_campaign=great_evnet-round2

เท่าที่พอจะนึกได้ก็มีอยู่เท่านี้ครับ เดี๋ยวตอนหน้าจะมาดูกันว่าเราควรกำหนดค่า source, medium, capmaign ในกรณีต่างๆ กันยังไง

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้การประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Google Analytics ฉบับเร่งด่วน ตอน 2

จากตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ UTM Parameters กันไปแล้วว่าสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มรายงานของ GA ได้อย่างไร ตอนนี้เรามาดูกันต่อว่าแคมเปญประเภทไหนบ้างที่จะนำ UTM มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไมเราถึงต้องใช้ UTM Parameters ?

จากบทที่แล้วเราพอจะมีเหตุผลหลักๆ มาตอบคำถามนี้ได้ 2 ข้อ คือ
  1. Referrer ที่ GA ได้รับไม่ได้ตรงกับความจริงเสมอไป (หากใครนึกไม่ออกให้ลองกลับไปอ่าน ตอนที่ 1 ใหม่นะครับ)
  2. ในการทำการตลาด เราต้องการข้อมูลมากกว่า Referrer เช่น banner ขนาดไหนที่สามารถสร้าง traffic คนเข้าเว็บให้เราได้มากกว่า ฯลฯ
ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ เราก็พอที่จะกำหนดได้แล้วว่า เมื่อไหร่ควรที่จะนำ UTM มาใช้งาน

เมื่อไหร่ที่เราไม่ต้องใช้ UTM ?

เราไม่จำเป็นที่จะต้องติด tags ในทุกๆ ลิงค์ของเรา ในบางกรณีจะดีกว่าถ้าจะปล่อยให้ลิงค์เหล่านั้นอยู่ของมันไปอย่างเดิม
1. ลิงค์ภายใน (Internal Links)
เราไม่จำเป็นต้องติด tags ให้กับลิงค์ภายในเว็บของเราเอง ยกตัวอย่างนะครับ
สมมติว่าคุณเขียนบทความขึ้นมาใหม่หนึ่งบทความ หลังจากนั้นคุณหรือคนอื่นๆ นำไปแชร์ลงใน Facebook หรือ Twitter จากนั้นมีผู้เยี่ยมชมมาคลิกเพื่อเข้ามาอ่านบทความของคุณจนจบ (สมมติว่าบทความ คือhttp://www.yourweb.com/how-to-do-something.html)  หลังจากนั้นผู้เยี่ยมชมคนนั้นต้องการไปยังหน้า HOME เพื่อที่จะอ่านบทความอื่นๆ ของคุณ โดยการคลิกไปที่ลิงค์ที่คุณติด tags เอาไว้ (สมมติว่าเป็น http://www.yourweb.com/home/?utm_source=self&utm_medium=howto&utm_campaing=tagcrazy) ในกรณีนี้ตัว GA จะเข้าใจผิดทันทีว่าผู้เยี่ยมชมคนนี้ไม่ได้มาจาก Facebook หรือ Twitter แต่จะไปเหมารวมเอาว่าผู้เยี่ยมชมคนนี้มาจาก source self
หากเราต้องการที่จะดูพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมว่าหลังจากอ่านบทความของเราแล้วไปต่อที่หน้าไหนอีกบ้าง เราสามารถใช้ความสามารถที่มีอยู่ของ GA ได้ (ในที่นี้ไม่ขอพูดถึง)
2. มาจากการค้นหาธรรมดา (Organic Search)
GA สามารถรู้ได้เองว่าผู้เยี่ยมชมเข้ามาจากการค้นหาผ่านทาง Search Engine โดย GA สามารถบอกได้ด้วยว่าเข้ามาด้วย keyword อะไร ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าที่จะไม่ติดตั้ง UTM กับหน้า Campaign ที่ต้องการทำ SEO
3. แหล่งอ้างอิงที่เกิดจากผู้อื่น (Natural Referrers)
ในกรณีที่มีเว็บไซต์อื่นแปะลิงค์อ้างอิงถึงเว็บไซต์ของเราหรือเอาลิงค์บทความที่เราเขียนไปอ้างอิงการตอบกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งในกรณีเหล่านี้เราไปบังคับให้ผู้ที่นำไปอ้างอิงมาติด tags ตามใจเราก็ไม่ได้ ดังนั้นข้อมูลในส่วนนี้ รายงานหัวข้อ `Referrers` สามารถบอกเราได้อยู่แล้วว่ามาจาก URL ไหนบ้าง

แล้วเมื่อไหร่ที่เราควรใช้ UTM ?

1. อีเมลแคมเปญ (Email Campaigns)
คนส่วนใหญ่อ่านอีเมลผ่านโปรแกรมต่างๆ (Email Client) ไม่ว่าจะบน Desktop หรือ บทอุปกรณ์พกพาในปัจจุบัน ลิงค์ต่างๆ ที่คลิกผ่านโปรแกรมเหล่านั้นจะไม่ได้ส่ง Referrer มาให้ GA รับรู้ ดังนั้น UTM Parameters จะช่วยในการเก็บสถิติของผู้เยี่ยมชมว่ามาจากอีเมลฉบับใด หรือ คลิกผ่านลิงค์ส่วนใดบนอีเมลของเราได้ โดยรายละเอียดพวกนี้ผมจะมาขยายให้เห็นชัดขึ้นในตอนต่อๆ ไปนะครับ
2. โซเชียลแคมเปญ (Social Campaigns)
คล้ายๆ กับกรณีอีเมล ปัจจุบันเรามีโซเชียลมีเดียให้เล่นอยู่หลายตัว เอาเฉพาะที่ดังๆ เช่น Facebook, Twitter, Google+ ฯลฯ แล้วแต่ละตัวก็มีล้วนมี Application มาให้ใช้งานไม่ว่าจะเป็น Official App เองหรือจากผู้พัฒนาเจ้าอื่นๆ คลิกที่ผ่านการแชร์จาก Application เหล่านี้ไม่ได้ส่ง Referrer มาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราควรที่จะใส่ UTM เข้าไปในทุกๆ URL ที่เรานำไปแชร์ลงในโซเชียลมีเดียเพื่อให้แน่ชัดไปเลยว่าคนเข้าผ่านโซเชียลมีเดียตัวไหนกันแน่
3. แคมเปญที่จ่ายเงิน (Paid Campaigns)
แน่นอนเมื่อต้องจ่ายเงินไปกับการลงทุนโฆษณาไม่ว่าจะเป็นบน Ads Network ต่างๆ หรือ โฆษณาบน Facebook หรือ ซื้อพื้นที่แบนเนอร์ผ่านเจ้าของเว็บไซต์ดังๆ โดยตรง สถิติส่วนใหญ่ที่คุณจะได้จากผู้ให้บริการเหล่านี้คือ ยอดคลิกเท่าไหร่ ยอดคนเห็นแบนเนอร์เท่าไหร่ แต่…
  • คุณไม่สามารถรับรู้ค่า Conversions จากตัวเลขเหล่านั้น เช่น คุณอยากรู้ว่าหลังจากคลิกเข้ามาผ่านแบนเนอร์แล้วมีคนทำรายการสั่งซื้อจนจบกี่ราย?
  • การใช้ UTM สามารถช่วยให้เราวัดผลประสิทธิภาพของแคมเปญจ่ายเงินของเราผ่าน GA ได้ เช่น คุณสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ แบนเนอร์บนเว็บไซต์ชื่อดัง กับ Facebook Ads ได้ หรือ แม่กระทั้งเปรียบเทียบกับ อีเมลแคมเปญหรือโซเชียลมีเดียแคมเปญก็ได้
  • *** โดยเฉพาะ Google Adwords เราสามารถที่จะผูกบัญชีเข้ากับบัญชี GA ของเราทำให้สามารถดูสถิติและประสิทธิภาพของแคมเปญเราได้อย่างอัตโนมัติ (ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมาเขียนให้อ่านในภายหลังนะครับ ไม่ขอสัญญา)
ถึงตรงนี้เราน่าจะจบพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการใช้งาน UTM Parameters กันแล้วนะครับ เดี๋ยวตอนหนังเราจะมาดูกันว่าเราควรนิยามหรือกำหนด tags ให้กับ parameters แต่ละตัวอย่างไรกัน

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้การประยุคใช้งาน UTM Parameters กับ Google Analytics ฉบับเร่งด่วน ตอน 1

เริ่มจากทุกอย่างต้องมีที่มา

สำหรับคุณที่กำลังอ่านบทความนี้ของผม ผมขอเหมารวมเอาเองว่าทุกท่านรู้จักและคุ้นเคยกับ Google Analytics (ต่อไปจะขอเขียนย่อว่า GA) กันมาก่อนหน้าแล้ว และติดตั้ง GA Tracking Code ไว้แล้ว ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ของเราเองหรือเว็บไซต์ของลูกค้าที่เราดูแลอยู่ก็ตาม
ผมเชื่อว่าอย่างหนึ่งที่หลายคนต้องการรู้เป็นอันดับต้นๆ จากรายงานสถิติการเข้าเว็บ ก็คือ
“คนเข้าเยี่ยมชมเว็บเราเข้ามาจากช่องทางไหนกันบ้างหนอ?”
ข้อมูลในส่วนนี้เราสามารถที่จะจัดการบอกให้ GA เก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้เราได้ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งที่มา (soucce), สื่อประเภทต่างๆ (medium), ชื่อแคมเปญ (campaign name) หรือ ถ้าเราต้องการที่จะทำการเปรียบเทียบผลลัพท์ของสื่อที่แตกต่างกันก็ทำได้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ชัดขึ้นมากกว่ารายงานแบบปกติที่ดูแล้วไม่ค่อยจะช่วยอะไรเราได้มากนัก
ทั้งนี้ ก่อนจะได้ข้อมูลที่เราต้องการ เราต้องออกแรงช่วย GA สำหรับการเก็บข้อมูลเหล่านี้เล็กน้อย ซึ่งจะมาว่ากันในตอนหลัง
เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของผู้เยี่ยมชมมาจากแหล่งที่เราต้องการถูกต้องแน่นอน เรามาดูกันก่อนว่า GA นั้นตีความแหล่งที่มาจากไหนบ้าง

1. แหล่งอ้างอิง (Referrer)

ในขณะที่มีคนคลิกเข้ามาในเว็บไซต์ของเรา ตัวบราวเซอร์จะส่งค่า `Referrer URL` มาด้วย ทำให้ GA รู้ว่าผู้เยี่ยมชมรายนี้เข้ามาจากเว็บไซต์ไหน คุณสามารถลองเข้าไปดูรายงานได้ที่เมนู `การอ้างอิงทั้งหมด` (All Referrals)
แต่… เจ้า Referrer จะไม่ถูกส่งมาด้วย ถ้ามาจากแหล่งเหล่านี้นะครับ
  • มาจาก Bookmarked
  • มาจากการพิมพ์เองตรงๆ ผ่าน Address bar
  • มาจาก Mobile App
  • มาจากพวก Email Client ต่างๆ เช่น Outlook
  • มาจากพวก Instant Messengers ต่างๆ เช่น Skype
  • มาจากพวก Social Client ต่างๆ เช่น Twitter clients
  • มาจากพวก link ในเอกสารต่างๆ เช่น PDF, MS Word, Powerpoint, etc.
  • หรือมาจากอะไรก็ตามที่ระบุไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้อยู่ที่เว็บไซต์ใด
ในกรณีเหล่านี้ เจ้า GA จะไม่รู้ได้ว่า Referrer URL มาจากไหน ในกรณีเหล่านี้ GA จะเหมารวมเอาข้อมูลไปรวมไว้ใน `Direct channel`
ดังนั้น เราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้รู้ถึงแหล่งที่มาที่ถูกต้องจริงๆ? และนี้คือเหตุผลที่ต้องมีพระเอกของเรา`UTM Parameters`

2. UTM Parameters

`UTM Parameters`  คืออะไร? ให้มองว่ามันคือ tags ง่ายๆ ที่เราเอาไปต่อท้ายเข้ากับ URL เพื่อบอกแหล่งที่มาของผู้เยี่ยมชมให้ GA รู้ เมื่อใครซักคนคลิกบนลิงค์ `URL+UTM` ข้อมูล tags เหล่านั้นจะถูกส่งไปให้ GA สำหรับการ Tracking
ยกตัวอย่างโจทย์
สมมติว่าเราอยากรู้ว่ามีคนเข้ามาชม LDP (Landing Page) โปรโมชั่นประจำปีของเราจากการลิงค์ที่โพสท์แชร์บน Fan Page จำนวนเท่าไหร่และผ่าน Ads Facebook จำนวนเท่าไหร่ เราจะต้องทำ tags ที่ต่างกันเล็กน้อย หน้าตาของ `URL+UTM` จะออกมาประมาณนี้
- สำหรับ Post ลง Fan Page
http://www.yourdomain.com/bigsale2015.html?utm_source=facebook&utm_medium=pagepost&utm_campaign=BigSale2015
——
- สำหรับ เป็น Destination URL ตอนซื้อ Ads Facebook
http://www.yourdomain.com/bigsale2015.html?utm_source=facebook&utm_medium=paidpost&utm_campaign=BigSale2015
——
URL = “http://www.yourdomain.com/bigsale2015.html
UTM = “ตัวสีฟ้าที่อยู่หลังเครื่องหมาย ?
สำหรับค่าที่สามารถกำหนดให้ GA รับรู้ได้มี ดังนี้ครับ
  • utm_campaign : เป็นค่าหลักที่ต้องกำหนด ใช้ระบุชื่อแคมเปญ
  • utm_source : เป็นค่าหลักที่ต้องกำหนด ใช้ระบุแหล่งที่มา เช่น google, facebook, newsletter หรือ จาก source อื่นๆ
  • utm_medium : เป็นค่าหลักที่ต้องกำหนด ใช้ระบุว่าเป็นสือไหน เช่น cpc, banner, email, ad_network ฯลฯ
  • utm_content : ไม่จำเป็นต้องกำหนด ใช้สำหรับระบุ content ที่ต่างกันของสือ เช่น เราส่ง email หาลูกค้า อยากรู้ว่า email แบบ A กับ B แบบไหนคนคลิกมากกว่ากัน
  • utm_term : ไม่จำเป็นต้องกำหนด ใช้ร่วมกับ paid search (AdWords)
หากเรากลับเข้าไปดูรายงานใน GA เราจะพบ ในส่วน `Acquisition >> All Traffic` หรือ `Acquisition >> Campaigns` มีข้อมูลตามที่เรากำหนดแสดงอยู่



พอจะเห็นภาพรวมๆ กันแล้วใช่หรือไม่ครับ ว่าเราสามารถปรับแต่ง UTM Parameters ได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะเก็บข้อมูลอะไรเอาไว้ใช้งาน
แล้วเราควรที่จะใช้ UTM Parameters สำหรับทุกงานหรือไม่ หรือ เหมาะกับงานประเภทไหนดี? อันนี้เดี๋ยวเรามาว่ากันต่อตอนหน้านะครับ